
จะมีสักกี่คนที่คว้าเงินทุนในอากาศจากคนแปลกหน้า “1 แสนเหรียญ” ภายในสัปดาห์เดียว หรือสัก “10 ล้านเหรียญ” ภายใน 1 เดือน ... นี่ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ เพราะมีคนที่ทำได้จริงๆ บน “โลกออนไลน์”
... เช่น โครงการนาฬิกาอัจฉริยะ Pebble E-paper Watch มูลค่าระดมทุน 10.3 ล้านเหรียญ ใน 37 วัน, โครงการ Oculus Rift ผลิตแว่น VR มูลค่าระดมทุน 2 พันล้านเหรียญ ใน 30 วัน หรือโครงการของคนไทย Drive Bot ระดมทุนไปได้ถึง 1 แสนเหรียญ ในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น
เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับในต่างประเทศ แต่ Crowdfunding ในไทย ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมายังนับว่า สดมากทีเดียว ในเชิงไอเดีย ความคิด ความกล้า ที่จะออกมาประกาศขอระดมทุนจากมวลชนทั่วโลก แม้จะใกล้เคียงกับเหตุการณ์เมื่อปี 2543 ที่คุณโหน่ง a day (วงศ์ทะนง ชัยณรงค์สิงห์) เขียนจดหมายไปหาแนวร่วม 2,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1,000 บาท นั่นแหละครับ
ไอเดียดีๆ มีเท่าไหร่ ขายให้หมด แลกกับเงินทุน ยิ่งไอเดียมีความแปลกใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มักได้รับการสนับสนุนที่ดีมาก สู่กระบวนการสร้างฝันให้เป็นจริง โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้อย่างสถาบันการเงิน
รูปแบบของ Crowdfunding มีหลักๆ อยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่
- Donation Crowdfunding ตามชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นการให้เปล่า ผู้บริจาคทุนไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น อาจมีบ้างที่นำหลักฐานการบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้
- Reward Crowdfunding ผู้ร่วมทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นสินค้าหรือสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิก เมื่อโครงการนั้นๆ สำเร็จ เช่น ได้รับสินค้าที่ผลิตไปใช้ก่อนเป็นกลุ่มแรก เป็นต้น
- Peer to peer business lending แบบนี้คล้ายกับการขอกู้สถาบันการเงิน คือ เมื่อถึงกำหนดเวลาโครงการจะคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุน
- Investment based ได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้นหรือหุ้นส่วน
แต่ไม่ว่าจะระดมทุนรูปแบบไหนก็ตามต้องเริ่มต้นด้วยการ Pitch idea หรือนำเสนอแนวความคิด ผ่านเว็บไซต์ Crowdfunding platform ต่างๆ หรือหน่วยงานที่รองรับเป็นสื่อกลาง ชี้แจงแผนการผลิต จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ และ Timeline การทำธุรกิจอย่างละเอียด และเงินลงทุนที่ต้องการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ร่วมลงทุน โดยเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมในการระดมทุน เช่น Gofundme, Kickstarter, หรือ Indiegogo เป็นต้น
และแน่นอนว่าไม่ใช่ใครก็มั่วๆ เข้าไปขอระดมทุนได้นะครับ ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการระดมทุนแบบ Investment based จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งก็มีรายละเอียด เช่น ระดมทุนได้ไม่เกินครั้งละ 20 ล้านบาท ลงทุนได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 ต่อผลงาน และไม่กำหนดความรับผิดชอบของโครงการที่ได้เงินแล้วดำเนินการไม่เสร็จ
นั่นหมายความว่า ผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนด้วยตัวเองนะครับ ซึ่งหัวใจของการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะทางออนไลน์ หรือออฟไลน์ คือ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และอย่าลืมว่าธุรกิจของคุณนั้นถูกก่อตั้งขึ้นโดยเงินของผู้สนับสนุนมากมายที่ไว้ใจ และเชื่อมั่นในโครงการของคุณ
เริ่มเลยดีไหม? ไหนๆ ก็เป็นคนรุ่นใหม่ มีไลฟ์สไตล์ดิจิทัลอยู่แล้ว ก็หาวิธีการได้เงินจากโลกดิจิทัล แล้วเติมเต็มความฝันของเรากันไปเลย ลองคิดค้นหาไอเดียดีๆ ที่ใช้เทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เพียงเท่านี้ความฝัน และความสำเร็จของเราก็อยู่ไม่ไกลแล้วล่ะครับ